ประวัติย่อ

an image

คณะมิชชันนารีสังกัดคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน ได้นำคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนท์ เข้ามาเผยแพร่ ในประเทศไทย เมื่อปี ค.ศ.๑๘๒๘ (พ.ศ.๒๓๗๑) โดยเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ แล้วจึงขยายสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ

ศาสนาจารย์ ดร. ดาเนียล แมคกิลวารี (Rev.Dr.Danial McGilvary D.D.) และ นางโซเฟีย บรัดเลย์ แมคกิลวารี ( Mrs.Sophia Bradley McGilvary ) เป็นมิชชันนารีผู้ประกาศเผยแพร่คริสต์ศาสนาในภาคเหนือ โดยเริ่มต้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในปี ค.ศ. ๑๘๖๗ (พ.ศ.๒๔๑๐)

ปี ค.ศ.๑๘๗๕ (พ.ศ.๒๔๑๘) นางโซเฟีย บรัดเลย์ แมคกิลวารีภรรยาของ ศาสนาจารย์ ดร. ดาเนียล แมคกิลวารี ได้เริ่มต้นสอนวิชาภาษาไทย การเย็บปักถักร้อย พระคัมภีร์ และการดูแลบ้านเรือน ให้แก่เด็กหญิง ที่อาศัยอยู่ในบ้าน โดยในระยะแรกไม่ได้สอนเป็นประจำหรือมีหลักสูตรชัดเจน จนถึงปี ค.ศ.๑๙๗๘ (พ.ศ.๒๔๒๒) คณะมิชชันได้ส่งนางสาวเอ็ดน่าซาราห์โคล ( Miss Edna Sarah Cole) และ นางสาวแมรี่ มาร์กาเร็ตต้า แคมเบลล์ (Miss Mary Margaretta Campbell) มาประจำที่เชียงใหม่ คณะมิชชันจึงได้จัดตั้งโรงเรียนสำหร้บเด็กหญิง (Chiengmai Girls’ School) อย่างเป็นระบบ และให้ทั้งสองท่านเป็นผู้ดูแล โรงเรียนนี้ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านพักมิชชั่นบนทีดินของเจ้ากาวิโลรส ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ในปัจจุบันคือคริสตจักรที่ ๑ เชียงใหม่

วันที่ ๒ พฤศจิกายน ค.ศ.๑๙๐๙ ( พ.ศ.๒๓๕๒ ) พระราชชายาเจ้าดารารัศมีเสด็จเยี่ยมโรงเรียน ผู้บริหาร โรงเรียนในขณะนั้นได้ทูลขอพระราชทานชื่อของโรงเรียน พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้ทรงมีโทรเลขปรึกษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ได้ทรงมีพระราชโทรเลขตอบกลับในวันที่ ๖ พฤศจิกายน ค.ศ.๑๙๐๙ ( พ.ศ.๒๔๕๒) ให้เรียกชื่อโรงเรียนผู้หญิงว่า “โรงเรียนพระราชชายา”

ต่อมา Miss Julia A Hatch ผู้จัดการโรงเรียนได้ทำหนังสือถึงเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการขออนุญาต เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนดาราวิทยาลัยแผนกประถม” มีนางสุดา อินทราวุฒิ เป็นครูใหญ่ และขอตั้งโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งชื่อ “โรงเรียนดาราวิทยาลัย” ตั้งอยู่ที่ถนนแก้วนวรัฐโดยมี Miss Julia A Hatch เป็นผู้จัดการ และ Miss Lucy Niblock เป็นครูใหญ่

ปี ค.ศ.๑๙๔๑ เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลไทยลงนามในสัญญาร่วมรบกับรัฐบาลญี่ปุ่น จึงทำให้ คณะมิชชันซึ่งเป็นพลเมืองคู่สงครามต้องอพยพออกนอกประเทศ คณะกรรมการควบคุมและจัดการทรัพย์สินของของคนต่างด้าว ได้ขายโรงเรียนดาราวิทยาลัยใหกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อสงครามโลกยุติ ประเทศญี่ปุ่นและเยอรมันเป็นฝ่ายแพ้ คณะมิชชั่นได้ดำเนินการขอทรัพย์สินและกิจการทั้งหมดคืนจากรัฐบาลไทย และเปิดเรียนครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ (พ.ศ.๒๔๘๙) มีครูบัวชม อินทะพันธุ์ เป็นครูใหญ่ มีนักเรียน ๓๕๐ คน

ปี ค.ศ.๑๙๖๘ (พ.ศ.๒๕๑๑) ได้ปิดโรงเรียนดาราวิทยาลัยแผนกประถม และโอนย้ายบุคลากรและนักเรียนทั้งหมดมาอยู่รวมที่โรงเรียนดาราวิทยาลัยถนนแก้วนวรัฐ เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษา ตอนปลาย

ปีการศึกษา ๒๕๓๕ โรงเรียนดาราวิทยาลัย ได้เปิดสอนในระบบสหศึกษา โดยการเปิดสอนทีละชั้น (แต่เดิมเมื่อครั้งเป็นโรงเรียนพระราชชายามีการรับนักเรียนชายในระดับอนุบาล)

ปัจจุบันโรงเรียนดาราวิทยาลัยตั้งอยู่เลขที่ ๑๙๖ ถนนแก้วนวรัฐ ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ ๗๗ ไร่ ๕ ตารางวา

ปีพุทธศักราช 2431 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำพระนามของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระราชทานเป็นนามโรงเรียนชื่อว่า “โรงเรียนพระราชชายา”